เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส1
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[102] (พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า (1)
คำว่า อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง อธิบายว่า อาตมภาพ
จักกล่าวบทขับ จักกล่าวบทขับที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว จักกล่าวบทขับที่พระพุทธ-
เจ้าทรงบอกแล้ว จักกล่าวบทขับที่พระพุทธเจ้าทรงภาษิตไว้แล้ว รวมความว่า
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปิงคิยะกล่าว... ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า
ดังนี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า ปิงคิยะ เป็นชื่อ เป็นการนับ การขนานนาม บัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน นาม
การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะของพระเถระนั้น รวมความว่า
ท่านปิงคิยะกล่าว... ดังนี้
คำว่า ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น อธิบายว่า ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัส
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1138-1156/551-554

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :346 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ทรงเห็นอย่างใดว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ก็ตรัส คือ บอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอย่างนั้น ทรงเห็นอย่างใดว่า “สังขาร
ทั้งปวงเป็นทุกข์” ฯลฯ “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิด
ขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ก็ตรัส คือ บอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอย่างนั้น รวมความว่า
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
คำว่า ปราศจากมลทิน ในคำว่า ทรงปราศจากมลทิน มีพระปัญญาดุจภูริ
อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ามลทิน โทสะ ชื่อว่ามลทิน โมหะ ชื่อว่ามลทิน โกธะ ชื่อว่า
มลทิน อุปนาหะ ชื่อว่ามลทิน ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ามลทิน
มลทินเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าไม่มีมลทิน ปราศจากมลทิน คือ
ไร้มลทิน บำราศมลทิน ละมลทินได้แล้ว หลุดพ้นมลทิน ก้าวล่วงมลทินทั้งปวงแล้ว
แผ่นดินตรัสเรียกว่า ภูริ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญา อันไพบูลย์
กว้างขวาง แผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนี้
ปัญญาตรัสเรียกว่า เมธา(ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยา
ที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปัญญาชื่อว่าเมธานี้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า
จึงชื่อว่ามีพระปัญญาดุจภูริ รวมความว่า ทรงปราศจากมลทิน มีพระปัญญาดุจภูริ
คำว่า ทรงปราศจากกาม ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม1

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :347 }